EDSA1 การต่อต้านและขับไล่ประธานาธิบดีเฟอร์ดินันด์ มาร์กอส (ค.ศ. 1983-1986) ในเดือนกุมภาพันธ์ ประชาชนฟิลิปปินส์ได้เดินขบวนเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งใหญ่ เพื่อต่อต้านระบบเผด็จการของประธานาธิบดีเฟอร์ดินันด์ มาร์กอส ซึ่งปกครองประเทศมาตั้งแต่ ค.ศ. 1965 ประสบการณ์ในครั้งนี้เป็นตัวอย่างการปฏิวัติประชาชนในประเทศโลกที่สามซึ่งสามารถโค่นล้มรัฐบาลได้โดยไม่ใช้ความรุนแรง
สาเหตุของการปฏิวัติของประชาชน (The People’s Revolution : EDSA1)
เฟอร์ดินันด์ มาร์กอสเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่ได้รับเลือกตั้งประธานาธิบดี 2 ครั้ง ครั้งแรกใน ค.ศ.1965 และครั้งที่ 2 ค.ศ.1969 ในการเลือกตั้งครั้งแรกประธานาธิบดีมาร์กอสได้รับชัยชนะจากคำขวัญว่า “เราสามารถจะเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่อีกครั้ง” ประธานาธิบดีมาร์กอสทุ่มเทให้กับงานด้านการลดช่องว่างคนรวยกับคนจน การฟื้นฟูเศรษฐกิจ การปราบปรามคอมมิวนิสต์ การปฏิรูปที่ดินและเน้นการผลิตเพื่อส่งอก และสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกาทั้งด้านเศรษฐกิจและการทหาร ทำให้ประชาชนประทับใจในผลงาน
แต่ในช่วงท้ายของการบริหารประเทศในสมัยที่สอง ประธานาธิบดีมาร์กอสได้ประกาศกฎอัยการศึก นำฟิลิปปินส์เข้าสู่ระบบการปกครองแบบเผด็จการ การประกาศกฏอัยการศึกทำให้ประธานาธิบดีมาร์กอสสามารถรักษาอำนาจต่อไปได้อีก 13 ปี ในระหว่างนี้เขาได้นำแนวนโยบายสังคมใหม่มาเป็นแนวทางในการสร้างเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจ โดยมีฐานคิดว่าต้องมีการรวมศูนย์อำนาจและการสร้างวินัยให้กับประชาชน สื่อมวลชนถูกใช้ให้เสนอภาพว่าประธานาธิบดีมาร์กอสเป็นผู้นำที่เป็นประชาธิปไตย ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับประชาชน และได้รับความนิยมอย่างสูง เขาคือผู้นำที่แข็งแกร่ง ไม่มีใครโค่นล้มได้ (Hermano, 1986)
อาจสรุปได้ว่าการที่ประชาชนคัดค้านและขับไล่ประธานาธิบดีมาร์กอสและครอบครัวนั้น มีสาเหตุมาจากเรื่องหลักๆ คือ
-ความยากจนของประชาชนที่เกิดจากการคอร์รัปชั่นของนักการเมืองไม่มีการกระจายทรัพยากรและอำนาจทางเศรษฐกิจ ประธานาธิบดีมาร์กอสและครอบครัว รวมทั้งเครือญาติและพรรคพวกร่ำรวยขึ้น ในขณะที่ประชาชนยากจนลง ระบบพรรคพวกและระบบอุปถัมภ์ไม่เปิดโอกาสให้บุคคลที่อยู่นอกกลุ่มเข้าถึงทรัพยากรทางเศรษฐกิจ
-การใช้อำนาจทางการเมืองอย่างเบ็ดเสร็จโดยอาศัยวิธีการทางกฎหมายไม่มีพรรคฝ่ายค้านในสภาและปิดกั้นเสียงวิพากษ์วิจารณ์นอกสภา ทำให้ปะชาชนมองเห็นสภาวะการรวบอำนาจทางการเมือง และส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนจำนวนมากที่ถูกจับกุมคุมขัง อุ้มฆ่า หรือหายสาบสูญ สร้างบรรยากาศความหวาดกลัวแผ่กว้างไปทั่วสังคม
-การสังหารนายเบนิกโน อะคีโน ใน ค.ศ. 1983 เป็นการจุดชนวนให้ประชาชนเห็นอำนาจมืดของระบอบมาร์กอสที่ใช้ความรุนแรงอย่างโจ่งแจ้งในการกำจัดบุคคลที่คัดค้านและท้าทายอำนาจในการบริหารประเทศของเขา
การต่อต้านและขับไล่ประธานาธิบดีมาร์อส
ประธานาธิบดีมาร์กอสอยู่ในอำนาจเป็นเวลานาน แม้ในระยะแรกจะได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวาง แต่หลังจากที่มีการประกาศกฎอัยการศึก ประชาชนเริ่มตระหนักว่าระบอบการเมืองกำลังเปลี่ยนจากประชาธิปไตยไปสู่อำนาจนิยม ปัญหาความยากจนและการคอร์รัปชั่นเป็นปัญหาใหญ่ที่สะสมมายาวนาน แม้จะมีกลุ่มฝ่ายค้านนอกสภา และมีกลุ่มติดอาวุธ ประธานาธิบดีมาร์กอสก็ยังสามารถรักษาอำนาจของตนไว้ได้ ในช่วงเวลากกว่าหนึ่งทศวรรษที่สื่อมวลชนปราศจากอิสรภาพ สื่อได้กลายเป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการควบคุมข่าวสารความจริง
อย่างไรก็ดี เสถียรภาพของรัฐบาลเริ่มสั่นคลอนนับตั้งแต่เกิดกรณีการสังหารวุฒิสมาชิกอะคีโน และปะทุเป็นขบวนการเรียกร้องของประชาชน เมื่อรัฐบาลโกงการเลือกตั้ง การปฏิวัติของประชาชนและการแปรพักตร์ของฝ่ายทหารและฝ่ายยุติธรรม ได้สร้างแรงกดดันจนประธานาธิบดีมาร์กอสถูกขับไล่ออกจากตำแหน่งในที่สุด
EDSA2 การถอดถอนประธานาธิบดีเอสตราด้า (ค.ศ.2000-2001) ใน ค.ศ. 2001 ประชาชนฟิลิปปินส์เดินขบวนครั้งใหญ่ เพื่อแสดงประชามติถอดถอนประธานาธิบดีโจเซฟ เอสตราด้าออกจากตำแหน่ง นับเป็นการปฏิวัติโดยประชาชนอีกครั้ง หลังจาการปฏิวัติโค่นล้มประธานาธิบดีมาร์กอสและครอบครัวเมื่อ 15 ปีก่อน การเดินขบวนคราวนี้มีกลุ่มชนชั้นกลาง นักธุรกิจ นักศึกษาและปัญญาชน ฝ่ายซ้าย ฝ่ายศาสนา และนักการเมืองภาคประชาสังคม และมีกลุ่มสหภาพแรงงาน ชาวนา และคนจนเมือง ร่วมเรียกร้องให้ประธานาธิบดีเอสตราด้าลาออก หลังจากกระบวนการถอดถอนตามรัฐธรรมนูญในรัฐสภาล้มเหลว การชุมนุมของประชาชนเกิดขึ้นในเมืองใหญ่เกือบทุกแห่งทั่วประเทศ และดำเนินต่อเนื่องเป็นเวลา 5 วัน ก่อนที่ประธานาธิบดีเอสตราด้าจะยอมจำนน และพาครอบครัวออกจากทำเนียบมาลากกัญทางด้านหลัง ในตอนบ่ายของวันที่ 20 มกราคม 2004
สาเหตุของการปฏิวัติประชาชน (The People’s Revolution : EDSA2 )
ประธานาธิบดีโจเซฟ เอสตราด้า หรือชื่อจริงว่า โฮเซ มาเชโล อีเฮร์ซิโต เอสตราด้าเข้าสู่วงการแสดงภาพยนตร์โดยที่เรียนไม่จบระดับมัธยมศึกษา สร้างความอับอายขายหน้าให้ครอบครัว และเป็นเหตุให้เขาเปลี่ยนชื่อใหม่เพื่อมิให้ชื่อเสียงของวงศ์ตระกูลต้องเสียหาย
จากตำแหน่งวุฒิสมาชิก โจเซฟ เอสจราด้าก้าวเข้าสู่ทำเนียบมาลากันญังใน ค.ศ. 1992 ในฐานะรองประธานาธิบดีที่ได้รับคะแนนเสียงท่วมท้น ประธานาธิบดีฟิเดล รามอส ได้มอบหมายให้รองประธานาธิบดีเอสตราด้าเป็นประธานคณะกรรมการต่อต้านอาชญากรรม ซึ่งทำให้เขาได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในหมู่คนชั้นล่าง ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีใน ค.ศ. 1998 เอสตราด้าจึงสมัครรับเลือกตั้งด้วยความมั่นใจและได้รับชัยชนะอย่างขาดลอย ประธานาธิบดีโจเซฟ เอสตราด้าเข้ารับตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีคนที่ 13 ของประเทศฟิลิปปินส์พร้อมกับภาพและคำขวัญ “ประธานาธิบดีของคนยากจน”
อย่างไรก็ดี สถาบันศาสนาเริ่มแสดงความไม่พอใจเกี่ยวกับความประพฤติของประธานาธิบดีเอสตราด้า ในแง่ที่เขามีภรรยาหลายคน ที่เปิดเผยนั้นมี 4 คน และมีบุตรีดารวม 11 คน ไม่นับข่าวลือที่ว่าเขายังมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับผู้หญิงอื่นอีก ซึ่งขัดกับหลักศาสนานิกายโรมันคาทอลิกที่เคร่งครัดในกฎเกณฑ์ครอบครัวแบบผัวเดียวเมียเดียว นอจากนั้น เขายังนิยมการใช้ชีวิตในสไตล์เพลย์บอยไม่ค่อยเรียกประชุมคณะรัฐมนตรี แต่กลับใช้วิธีบริหารด้วยการพูดคุยกับคนสนิทที่เป็นเจ้าพ่อ นักการเมืองท้องถิ่น และนักธุรกิจที่มีชื่อเสียงในทางลบ ในวงพนันในทำเนียบมาลากันญัง จากทั้งเรื่องความประพฤติส่วนตัว เรื่องการพนันและการคบเจ้าพ่อของประธานาธิบดีเอสตราด้า ทำให้สังคมฟิลิปปินส์โดยเฉพาะอย่างยิ่งชนชั้นกลาง นักธุรกิจ และฝ่ายซ้าย เริ่มตั้งข้อสังเกตถึงประสิทธิภาพของฝ่ายบริหาร และสงสัยว่าเหตุใดประธานาธิบดีจึงสามารถมีทรัพย์สินมากมายในการใช้ชีวิตที่ฟุ่มเฟือยเช่นนี้ได้
ต่อมาได้มีคนออกแถลงการข่าวเปิดโปงผลประโยชน์นอกระบบของประธานาธิบดีเอสตราด้าและพรรคพวก คือ นายชาวิท ซิงซอน คณะกรรมาธิการบลูริบบอนของวุฒิสภา ได้เริ่มการสอบสวนข้อเท็จจริงตามข้อกล่าวหาเรื่องรับค่าคุ้มครองและสินบนต่างๆ เป็นครั้งแรกที่ประชาชนได้รับทราบถึงเบื้องหลังพฤติกรรมผิดกฎหมายของประธานาธิบดี การสอบสวนยังทำให้ได้ข้อมูลใหม่เกกี่ยวกับการใช้ชื่อและบริษัทนายหน้า เพื่อปกปิดการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ของบรรดาภรรยาน้อยของประธานาธิบดี สื่อมวลชนพากันรายงานข่าวอย่างเต็มที่โดยไม่เกรงกลัวต่ออิทธิพลและการควบคุมของรัฐบาล
จากหลักฐานที่ได้จากพยานที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ธนาคาร และนายชาวิท ซิงซอน พรรคฝ่ายค้านได้รวบรวมรายชื่อสมาชิกสภาคองเกรส เพื่อยื่นญัตติถอดถอนประธานาธิบดีเอสตราด้า ในข้อหารับสินบนและร่ำรวยผิดปกติ ในขณะที่กลุ่มการเมืองนอกรัฐสภาประกอบด้วยฝ่ายศาสนจักร กลุ่มต่อต้านเอสตราด้า กลุ่มสหภาพแรงงาน กลุ่มนักธุรกิจและกลุ่มนักกิจกรรม ได้รวมตัวกันเดินขบวนเรียกร้องให้ประธานาธิบดีเอสตราด้า รวมทั้งคณะรัฐมนตรีลาออก
จะเห็นได้ว่าในระหว่างที่มีการชุมนุมที่เอ็ดซ่า ปฏิบัติการทางการเมือง มีลักษณะการเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มคนที่ร่วมชุมนุมและเครือข่ายการสื่อสารตลอดเวลา ในด้านหนึ่งสื่อหนังสือพิมพ์ถูกลดทอนฐานะของการเป็นผู้นำความคิดเห็นลงไป เวทีความคิดเห็นกระจายกว้างขวางขึ้น โดยมีการเชื่อมโยงระหว่างสื่อโทรทัศน์ในบทบาทของผู้ถ่ายทอดเหตุการณ์ และกลุ่มเครือข่ายประชาชนและภาคประชาสังคม ในระดับบุคคลและกลุ่มขนาดเล็ก การที่สื่อโทรศัพท์ การส่งข้อความสั้น และการสื่อสารด้วยอินเตอร์เน็ต ได้เข้ามาเป็นสื่อกลางเชื่อมโยงการถ่ายทอดข่าวสารและข้อมูลที่ริเริ่มจากฝ่ายประชาชนได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ทำให้สภาพของพื้นที่สาธารณะในวิกฤตการณ์ทางการเมืองแผ่ขยายออกไปในแนวราบ และเข้าถึงกลุ่มคนที่ไม่เคยมีส่วนร่วมทางการเมืองในลักษณะนี้มาก่อน เช่น กลุ่มเยาวชน กลุ่มชนชั้นกลางที่ทำงานในสำนักงาน กลุ่มนักวิชาชีพ พร้อมกันนั้นกลุ่มคนเหล่านี้ก็รวมตัวกันเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันกับแกนนำขององค์กรศาสนา องค์กรพัฒนาเอกชน กลุ่มการเมืองอิสระ และทหารบางกลุ่มในกองทัพที่ตอบรับกระแสเรียกร้องของประชาชนให้ถอดถอนประธานาธิบดีเอสตราด้าออกจากตำแหน่ง การประสานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของเครือข่ายประชาสังคมและเครือข่ายการสื่อสาร จึงเป็นสภาวะใหม่ที่ส่งผลสัมฤทธิ์ต่อการปฏิวัติของประชาชนฟิลิปปินส์
นอกขากนี้ข้อสังเกตเกี่ยวกับบทบาทและเครือข่ายการสื่อสารว่า การปฏิวัติของประชาชนฟิลิปปินส์ครั้งที่ 2 มีความแตกต่างอย่างสำคัญจากการปฏิวัติครั้งแรก กล่าวคือ ในครั้งนี้ประชาชนมีส่วนร่วมสูงโดยอาศัยการเชื่อมต่อสารสนเทศผ่านเครือข่ายการสื่อสารข้อความสั้น และประชาชนยังได้แสดงบทบาทการเป็นผู้ควบคุมวาระข่าสารเอง เป็นคนกำหนดวาระและเนื้อหาต่างๆ เช่น การที่ประชาชนส่งข้อความเข้าไปในรายการวิทยุและโทรทัศน์ และในอินเตอร์เน็ต ทำให้นักหนังสือพิมพ์และสื่อต้องนำเอาประเด็นเหล่านั้นไปเป็นวาระในสื่อของตน กลุ่มประชาชนที่มีเครื่องมือสื่อสารจึงสามารถแสดงบทบาทแบบพลเมืองเสมือนที่มีส่วนเป็นผู้ขับเคลื่อนกระแสการเมืองโดยตรง และสามารถนำวาระของตนลอดผ่านประตูของสื่อมวลชนกระแสหลักเข้าไปปักธงยึดพื้นที่ในจุดต่างๆ ของสื่อได้ ประการสำคัญ สารสนเทศและเครือข่ายการสื่อสารเหล่านี้คือหน่วยบัญชาการในการระดมกฎลังจากฝ่ายการเมือง เช่น นักการเมือง กองทัพ และตำรวจเข้ามาสมทบกับกำลังหลักของประชาชนในที่สุด กล่าวได้ว่า ประชาชนมีส่วนร่วมในการเขียนบท และเปลี่ยนบทบาทจากผู้ตามเป็นผู้นำในการปฏิวัติครั้งนี้
เมื่อเปรียบเทียบกับการปฏิวัติครั้งแรกของประชาชนฟิลิปปินส์ ผู้ที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนทางการเมืองได้แก่ศาสนจักรและกองทัพ รวมทั้งกลุ่มการเมืองและองค์กรภาคประชาสังคม พวกเขาคือกลุ่มผู้นำที่ระดมกำลังประชาชนให้เข้าร่วมการชุมนุม ในฐานะผู้ที่มีความตื่นตัวและต้องการโค่นล้มประธานาธิบดีมาร์กอสและครอบครัว และระบอบคณาธิปไตยที่ดำรงมายาวนานถึง 13 ปี แต่ระหว่างการชุมนุมประชาชนไม่มีบทบาทหรือมีส่วนร่วมในการกำหนดจังหวะการเคลื่อนไหว ในด้านสื่อมวลชนและเครือข่ายการสื่อสารก็ยังไม่มีประสิทธิภาพเนื่องจากถูกปิดกั้นไม่ให้นำเสนอข่าวสาร (สถานีโทรทัศน์และวิทยุของรัฐไม่เสนอข่าวการเดินขบวนของประชาชน และฝ่ายรัฐบาลได้ส่งกำลังเข้ายึดวิทยุและโทรทัศน์ที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลใช้ออกอากาศ) นอกจากนี้ เทคโนโลยีการสื่อสารที่มีอยู่จำกัด คือมีเฉพาะในลุ่มแกนนำ (เช่น การสื่อสารด้วยระบบสื่อสารของกองทัพ) ทำให้ประชาชนต้องเดินตามวาระที่กลุ่มผู้นำกำหนดไว้ เพราะคนกลุ่มนี้ (ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายต่อต้านรัฐบาล) คือผู้คุมกระแสข่าวสารและความเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งหมด
ปรากฏการณ์ของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในการร่วมขับเคลื่อนขบวนการปฏิวัติของประชาชนฟิลิปปินส์เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าการถ่ายโอนอำนาจการเมือง และการกระจายอำนาจ หรือการเปลี่ยนบทบาทระหว่างผู้นับผู้ตาม และระหว่างสื่อมวลชนที่เป็นผู้คุมวาระข่าวสารกับประชาชนซึ่งถูกกำหนดให้เป็นผู้รับข่าวสาร มีโอกาสเกิดขึ้นได้ในบางช่วงจังหวะของประวัติศาสตร์ และเป็นประสบการณ์สำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นไปได้ของวิถีประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของ หากสภาวะดังกล่าวจะได้รับการพัฒนาต่อไปให้เป็นวิถีธรรมชาติที่เครือข่ายประชาชนและการสื่อสารมีการเชื่อมโยงกับการปฏิบัติการการเมืองและสังคมอย่างสม่ำเสมอ
อ้างอิง : สื่อและสิทธิการสื่อสารของประชาชนฟิลิปปินส์. "การปฏิวัติประชาชนฟิลปปินส์และเครือข่ายสื่อในขบวนการสังคมและการเมือง". 2550.
อ้างอิง : สื่อและสิทธิการสื่อสารของประชาชนฟิลิปปินส์. "การปฏิวัติประชาชนฟิลปปินส์และเครือข่ายสื่อในขบวนการสังคมและการเมือง". 2550.
https://iandme2012.files.wordpress.com/2013/11/capture.jpg
http://www.sarakadee.com/feature/2001/03/images/cellphone_revolution_01.jpg
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น