สิทธิการสื่อสารของประชาชนฟิลิปปินส์
สิทธิเสรีภาพในการสื่อสารของประชาชนตามกฎหมาย
สิทธิในการในการสื่อสารสื่อมวลชนและประชาชนฟิลิปปินส์ มีการบัญญัติรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ ค.ศ. ๑๙๘๗ (1987 CONSTITUTION) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของความเป็นสังคมประชาธิปไตย ประชาชนต้องมีสิทธิพูดและแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี
สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองในเรื่องการสื่อสาร ซึ่งรัฐธรรมนูญฟิลิปปินส์ ฉบับปี ค.ศ. ๑๙๗๓ ได้บัญญัติรับรองไว้แต่ในสมัยประธานาธิบดีมาร์กอสได้ยกเลิกไปหลังจาก มีการประกาศกฎอัยการศึก ดังนั้น รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (ค.ศ. ๑๙๘๗) จึงได้มีการบัญญัติไว้อีกครั้งหนึ่ง
นอกจากนี้ เพื่อให้รัฐนำบทบัญญัติไปปฏิบัติอย่างเป็นจริง รัฐต้องมีนโยบายเปิดเผยข้อมูลข่าวสารในทุกๆ เรื่องที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของประชาชน (Chua, 2001)
การรับรองสิทธิในการสื่อสารของประชาชน ไว้ในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาจจะแสดงให้เห็นว่ารัฐยอมรับในหลักการสิทธิเสรีภาพ และสิทธิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชน ส่วนทางปฏิบัตินั้นมีปัญหานานัปการที่เป็นอุปสรรคในการใช้สิทธิเสรีภาพดังกล่าว เช่น ในกรณีที่รัฐบาลและผู้นำทางการเมืองไม่เคารพและละเมิดหลักการที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ ดังที่ปรากฏในสมัยประธานาธิบดีมาร์กอส ที่มีการควบคุม คุกคาม ไปจนถึงการกำจัดนัดการเมืองฝ่ายค้าน สื่อมวลชน และปัญญาชนในมหาวิทยาลัย หรือเกิดจากปัญหาของนักสื่อสารมวลชนที่ไม่รู้ระเบียบกฎเกณฑ์ในการขอข้อมูลข่าวสารราชการที่ต้องการ บ่อยครั้งปัญหาเกิดจากส่วนราชการที่ไม่มีระบบในการจัดเก็บข้อมูล ไม่มีคอมพิวเตอร์ และระบบการค้นข้อมูล หรือไม่ต้องการเปิดเผยข้อมูล เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ให้ความร่วมมือ ใช้วิธีทอดเวลาทำให้ล่าช้าเพื่อปกปิดความจริงเกี่ยวกับโครงการต่างๆ ที่มีปัญหาไม่โปร่งใส ดังนั้น แม้กฎหมายจะให้สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าสารไว้แล้ว แต่ประชาชนก็ยังตรวจสอบการบริหารงานของรัฐบาลและองค์กรของรัฐได้อย่างยากลำบาก
นอกจากต้องประสบปัญหาการใช้สิทธิความเป็นพลเมืองและสิทธิของสื่อมวลชน ในการตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการเพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมในทางการเมืองระดับชาติแล้ว ในระดับท้องถิ่นก็มีปัญหาและอุปสรรคไม่น้อยไปกว่ากัน และส่วนใหญ่จะพบว่ามีปัญหามากกว่า เพราะโครงสร้างของอำนาจการเมืองท้องถิ่นเอื้ออำนายให้ใช้อิทธิพลและความรุนแรงต่อสื่อมวลชนและประชาชนที่ต้องการตรวจสอบผลประโยชน์ ความฉ้อฉล และการคอร์รัปชั่นทรัพยากรและงบประมาณท้องถิ่น
สื่อมวลชนส่วนใหญ่เมื่อพบว่าการทำงานเพื่อขุดค้นข้อมูลสาธารณะทำได้ยาก อีกทั้งองค์กรของตนก็ไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจัง หากมุ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบอุตสาหกรรมสื่อที่หวังผลเชิงพาณิชย์มากกว่า จึงเมินเฉยและละเลยการทำหน้าที่ตรวจสอบ ไม่เปิดโปงและไม่วิพากษ์วิจารณ์ความไม่ชอบธรรมต่างๆ ในสังคม กฎหมายจึงกลายเป็นเพียงหลักการบนแผ่นกระดาษที่ศักดิ์สิทธิ์ สามารถอ้างอิงได้ แต่ไม่มีประสิทธิผลและประสิทธิภาพในทางปฏิบัติแต่อย่างใด
ในทางตรงกันข้าม สังคมได้หันไปพัฒนาสื่อทางเลือกที่สามารถพึ่งพาเป็นปากเสียงได้ สื่อมวลชนบางส่วนและเครือข่ายของประชาชนได้ร่วมกันทำงานในแบบ crusading journalism โดยแยกตัวออกมาจากกฎเกณฑ์การทำงานตามบรรทัดฐานของสื่อพาณิชยนิยม อุทิศตนเพื่อรักษาผลประโยชน์สาธารณะ สื่อกลุ่มนี้มีบทบาทสำคัญและมีคุณค่าต่อชุมชนท้องถิ่น ในการสร้างความสำนึกรู้ การมีส่วนร่วม และการขัดขืนความสัมพันธ์ของอำนาจที่ครอบงำอยู่
สื่อภาคประชาชน-พลเมือง
จากข้อจำกัดของสภาพเศรษฐกิจการเมืองสังคมของฟิลิปปินส์ ประสบการณ์ขบวนการปฏิวัติประชาชนเอ็ดซ่า 1 และ 2 บริบทของสื่อเชิงพาณิชย์ในระบบอุตสาหกรรมสื่อ และปัญหาการบังคับใช้กฎหมายที่รับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทำให้ภาคประชาชนฟิลิปปินส์มีการเคลื่อนไหวเพื่อสร้างเครือข่ายและรูปแบบอันหลากหลายของการสื่อสาร ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงจิตสำนึกและปฏิบัติทางการเมืองของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังขบวนการปฏิวัติประชาชนใน ค.ศ. 1986
การเคลื่อนไหวปฏิวัติของประชาชน ประกอบไปด้วย
· EDSA2 การถอดถอนประธานาธิบดีเอสตราด้า (ค.ศ. 2000-2001)
"การปฏิวัติประชาชนเพื่อถอดถอนประธานาธิบดีเอสตราด้า"
"การปฏิวัติประชาชนเพื่อถอดถอนประธานาธิบดีเอสตราด้า"
องค์กรสื่อภาคประชาชนของฟิลิปปินส์
-ศูนย์ข่าวสืบสวนสอบสวนแห่งฟิลิปปินส์ (PCIJ)
-หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นบันดิลิโย (Bandillo)
-สมาคมละครเพื่อการศึกษาแห่งฟิลิปปินส์ (PETA)
-มูลนิธิสื่อทางเลือก (FMA)
-เครือข่ายข่าวสารสตรี ISIS International – Manila (ISIS)
-วิทยุชุมชนทัมบุลี (Tambuli)
ในการวิเคราะห์ประสบการณ์การเคลื่อนไหวปฏิวัติของประชาชน และกรณีศึกษาองค์กรสื่อภาคประชาชน 6 กรณี ได้นำแนวความคิดเรื่องสิทธิการสื่อสารของประชาชน สื่อภาคประชาชนและสื่อพลเมืองมาเป็นกรอบของการวิเคราะห์เจตนารมณ์
เจตนารมณ์และผลการสื่อสาร
จากการวิเคราะห์ประสบการณ์การเคลื่อนไหวปฏิวัติของประชาชน และองค์กรสื่อภาคประชาชน 6 องค์กร สามารถสรุปให้เห็นเจตนารมณ์ของการสื่อสารภาคประชาชนว่าต้องดำเนินการเพื่อเป้าหมายสำคัญ 4 ด้านคือ
1. การเพิ่มพลังอำนาจของพลเมืองและสาธารณะชน ด้วยการใช้ข้อมูลข่าวสาร เช่น ศูนย์ข่าวสืบสวนสอบสวนแห่งฟิลิปปินส์ และหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นบันดิลิโย สำหรับเครือข่ายข่าวสารสตรี เน้นไปที่การเพิ่มพลังอำนาจของกลุ่มสตรีโดยเฉพาะ
2. การสร้างสำนึกใหม่ให้แก่พลเมืองและชุมชน เช่น งานของสมาคม ละครเพื่อการศึกษาแห่งฟิลิปปินส์ และศูนย์ข่าวสืบสวนสอบสวนแห่งฟิลิปปินส์ หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นบันดิลิโย และเครือข่ายข่าวสาร
3. การสร้างเครือข่ายสื่อพลเมืองและองค์กรภาคประชาชน เช่น งานของมูลนิธิสื่อทางเลือก เครือข่ายสตรี และสมาคมละครเพื่อการศึกษาแห่งฟิลิปปินส์
4. การสร้างการมีส่วนร่วมของพลเมืองและชุมชน เช่น กรดำเนินงานของกลุ่มวิทยุชุมชนทัมบุลี สมาคมละครเพื่อการศึกษาแห่งฟิลิปปินส์ และมูลนิธิสื่อทางเลือก
ในกรณีประสบการณ์การเคลื่อนไหวปฏิวัติของประชาชนจะเห็นได้ว่า เป็นการบูรณาการเจตนารมณ์ทั้ง 4 ด้านเข้ามาพร้อมกัน ด้วยการสะสมประสบการณ์ข่าวสารและการสื่อสารมาอย่างต่อเนื่องก่อนการเดินขบวนครั้งใหญ่ และในช่วงเวลา 4-5 วัน ขณะที่เกิดกระแสการปฏิวัติประชาชนได้วินิจฉัยข่าวสารความรู้ พร้อมกับสังเคราะห์ประการณ์ของตนและกลุ่มเครือข่ายของตนจนเกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงความรู้สึกนึกคิดกลายเป็น “พลเมือง” ที่ก้าวเข้ามาร่มปฏิบัติการทางการเมือง
หัวใจของความสำเร็จในการเคลื่อนไหวปฏิวัติของประชาชนประการหนึ่งคือ เครือข่ายทางสังคม วัฒนธรรม การเมือง และการสื่อสาร ซึ่งมีรากฐานอยู่ในกิจกรรมและความสัมพันธ์ของเครือข่ายในชีวิตประจำวัน ความผูกพัน ความแน่นแฟ้น ความเชื่อถือระหว่างกันของสมาชิกทำให้ปฏิบัติการทางการเมืองและสังคมเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วในสภาวะวิกฤต ประชาชนในเครือข่ายต่างก็มีความรู้สึกนึกคิดร่วมกันและมีความเห็นชอบทางการเมืองร่วมกัน การเคลื่อนไหวชุมนุมเปรียบเสมือนการมาพบปะเพื่อลงมติและต่อสู้ร่วมกัน แม้ประชาชนส่วนใหญ่จะมีความหวาดกลัวต่อระบบเผด็จการ รถถังอาวุธสงครามและกระสุนปืนของทหารตำรวจ แต่เครือข่ายประชาชนขนาดใหญ่ คือกำแพงแห่งกำลังใจและพลังความกล้าหาญ ที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน จนอาจหยัดยืนขึ้นกำหนดชะตากรรมของตนเองได้อย่างเต็มศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
ความเคลื่อนไหวของการสื่อสารภาคประชาชนในสังคมประชาธิปไตย
การสื่อสารภาคประชาชนของฟิลิปปินส์มีประวัติศาสตร์ยาวนานตั้งแต่สมัยอาณานิคมสเปน สื่อในอดีตที่มีเป้าหมายในการปลดปล่อยจิตสำนึกให้เป็นอิสระ ปลดปล่อยชาติให้พ้นจากพันธนาการของเจ้าอาณานิคม ในยุคต่อมา สื่อภาคประชาชนที่ต่อต้านอำนาจรัฐถูกเรียกว่า Dissident press แม้จะมีจำนวนไม่มากนัก และถูกคุกคามปราบปรามตลอดเวลา แต่นักหนังสือพิมพ์ก็สามารถหาวิธีการสื่อสารกับประชาชนผู้อ่าน ไม่ว่าจะเป็นยุคอาณานิคมสหรัฐฯ หรือช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ภายใต้การปกครองของกองทัพญี่ปุ่น
จุดหักเหสำคัญของการสื่อสารภาคประชาชนเกิดขึ้นในสมัยประธานาธิบดีมาร์กอส ภายหลังที่มีการประกาศกฎอัยการศึก สื่อมวลชนถูกควบคุม ถูกซื้อ และข่มขู่คุกคามจนไม่อาจทำหน้าที่เป็น “สุนัขเฝ้าบ้าน” ในการตรวจสอบรัฐบาล นักการเมือง และข้าราชการ หรือเป็นปากเสียงแทนประชาชนได้ เมื่อสื่อกระแสหลักสยบยอมต่ออำนาจรัฐและทุนละทิ้งอุดมการณ์การต่อสู้เพื่ออิสรภาพและเอกราชไป สื่อเล็กๆ กลุ่มหนึ่งที่รัฐบาลเห็นว่าเป็นเพียงพวก “เสียงนกสียงกา” หรือ “mosquito press” คือสื่อภาคประชาชนที่บุกเบิกถางทาง สร้างจิตสำนึกใหม่ให้กับประชาชนนำไปสู่การปฏิวัติใน ค.ศ. 1986
ประสบการณ์ปฏิวัติประชาชนในครั้งนั้น ได้ส่งผลให้เกิดองค์กรสื่อรูปแบบใหม่ขึ้นหลายองค์กร อาทิ มูลนิธิสื่อทางเลือก ศูนย์ข่าวสืบสวนสอบสวนแห่งฟิลิปปินส์ และองค์กรสื่อรุ่นถัดมา อาทิ กลุ่มวิทยุชุมชนทั่วประเทศและหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นบันดิลิโย สื่อภาคประชาชนในกลุ่มนี้ที่มีความมุ่งมั่นสืบสานความคิดและอุดมการณ์ของขบวนการนักชาตินิยมและปัญญาชน และมีผลงานโดดเด่นคือ ศูย์ข่าวสืบสวนสอบสวนแห่งฟิลิปปินส์
การทำงานขององค์กรสื่อภาคประชาชนที่ประสานกับการเคลื่อนไหวของขบวนการทางสังคม ได้สะท้อนเห็นความสำคัญและบทบาทของสื่อภาคประชาชนว่าจำเป็นมากเพียงไรในสังคมประชาธิปไตยในปัจจุบัน หากประชาชนขาดสิทธิการสื่อสาร ปราศจากสื่อภาคประชาชน หรือไม่มีความรู้ความเข้าใจในสภาพการณ์ของสังคมการเมืองของตนเองแล้ว ประชาธิปไตยก็ไม่อาจดำรงอยู่ได้ ทว่าการที่สื่อภาคประชาชนได้คอยส่องไฟตรวจสอบความฉ้อฉลและการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมในทุกระดับอย่างจริงจังในช่วงทศฯวรรษที่ผ่านมา คือสิ่งที่ให้หลักประกันแก่สิทธิเสรีภาพของประชานฟิลิปปินส์ การปฏิวัติประชาชนครั้งที่ 2 ใน ค.ศ. 2001 เป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นเป็นอย่างดีว่าข้อมูลข่าวสารที่เป็นจริง ความรู้และจิตสำนึกใหม่ เครือข่ายองค์กรภาคประชาชนและสื่อภาคประชาชน คือพลังอำนาจของสื่อสารที่แท้จริง
อ้างอิง : สื่อและสิทธิการสื่อสารของประชาชนฟิลิปปินส์. "สื่อภาคประชาชนฟิลิปปินส์". 2550.
https://iandme2012.files.wordpress.com/2013/11/edsa_86.jpg?w=750
http://www.sarakadee.com/feature/2001/03/images/cellphone_revolution_02.jpg
อ้างอิง : สื่อและสิทธิการสื่อสารของประชาชนฟิลิปปินส์. "สื่อภาคประชาชนฟิลิปปินส์". 2550.
https://iandme2012.files.wordpress.com/2013/11/edsa_86.jpg?w=750
http://www.sarakadee.com/feature/2001/03/images/cellphone_revolution_02.jpg
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น